วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไทย พบ ญี่ปุ่น (22 ก.ย.เวลา 15.00 น.) รอบรองชนะเลิศกับบทวิเคราะห์



วันนี้เวลา 15.00 น. อีกไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อจากนี้ทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยจะลงสนามทำศึกนัดสำคัญกับคู่ปรับเก่าสาวญี่ปุ่นอีกครั้งในรายการนี้ โดยในการแข่งขันรอบจัดอันดับ ไทยมีโอกาสได้ประลองกับสาวญี่ปุ่นมาแล้ว แต่อยากจะเรียนแฟนๆ วอลเลย์บอลว่าอย่าเอาผลงานในการพบกันครั้งนั้นมาเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบว่าในนัดนี้เราน่าจะแพ้ญี่ปุ่นอีกครั้ง ผมเรียนได้เลยว่านัดแรกที่เราแข่งกับญี่ปุ่นเราเล่นเต็มที่เช่นเดียวกับสาวญี่ปุ่น เพียงแต่ไม่ได้ใช้กลยุทธ์มากมายนักเพราะต่างฝ่ายก็รู้ดีว่าผลการแข่งขันนัดนั้นไม่ได้ส่งผลอะไรกับทีม

ดังนั้นเกมไทยพบญี่ปุ่นวันนี้เป็นด่านสำคัญพิสูจน์ว่าใครคู่ควรกับการเข้าไปชิงเจ้าเอเชีย ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นคงจดจำนัดนี้เมื่อ 2 ปีก่อนที่ฮานายได้เป็นอย่างดี ว่าทีมไทยทีมนี้นี่เองที่สร้างความผิดหวังให้กับญี่ปุ่น ดังนั้นเกมในวันนี้ทั้งสองทีมจัดเต็มอย่างแน่นอน

ฟอร์มการเล่นสาวญี่ปุ่น

จากการแข่งขันในรอบแรก ๆ ที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วถือว่าทีมญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นญี่ปุ่นที่แฟน ๆวอลเลย์บอลรู้จักกันดีในเรื่องความเหนียวแน่นใจสู้ ความรวดเร็วของเกม แต่หากวิเคราะห์อย่างละเอียดก็ใช่ว่าไม่มีจุดอ่อน โดยเฉพาะในการแข่งขันครั้งนี้ สิ่งที่ผมเห็นเช่นเดียวกับที่แฟนคลับวอลเลย์บอลไทยได้วิเคราะห์กันในเวบไซต์ของแฟนคลับคือ ผู้เล่นทำคะแนนหลักของทีมอย่าง ซาโอริ ดูเหมือนจะโชว์ฟอร์มได้ไม่ค่อยร้อนแรงนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในนัดนี้เธอจะไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้

ส่วนจุดอ่อนที่เห็นอีกอย่างหนึ่งคือปัญหาในการสกัดกั้นเมื่อผู้เล่นตัวเซต ทาเคชิตะ อยู่แดนหน้า จะทำให้แนวสกัดกั้นของญี่ปุ่นด้อยลงไปมากเพราะ ทาเคชิตะ เป็นตัวเซตที่ถือว่าเตี้ยมากแต่เธอทดแทนด้วยความแม่นยำในการเซต ความคล่องแคล่ว และความฉลาดในการใช้กลยุทธ์

ฟอร์มการเล่นสาวไทย

โดยความเห็นของผมเองสาวไทยถือว่าทำผลงานไปตามเป้าหมายทีละขั้น เป็นเพราะหลายครั้งเราอาจจะเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างแต่ในมุมมองของผมในฐานะผู้ฝึกสอนคิดว่าทั้งนักกีฬาและสต๊าฟโค้ชกำลังเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างปรับระบบทดลอง หรือแม้กระทั่งใช้แผนการเล่นยังไม่หมด

จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของทีมไทยคือ ความสมบูรณ์ของสภาพร่างกายของผู้เล่นกำลังสำคัญ และข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่งคือทีมไทยมีผู้เล่นสำรองที่ค่อนข้างห่างจากตัวหลักอยู่พอสมควร เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนตัวลงมาทีมมักจะเสียสมดุลในการเล่นซึ่งคงต้องให้เวลากันต่อไป

รูปแบบการเล่นของสาวไทยและสาวญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องขออธิบายแทรกความรู้ด้านเทคนิคในการเล่นวอลเลย์บอลประกอบ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมจะได้เป็นข้อสังเกตว่าทำไมแต่ละทีมใช้แผนการเล่นลักษณะนี้

รูปแบบการรุก

การรุกในกระบวนการเปลี่ยนเสริฟ Sideout (เมื่อคู่ต่อสู้เป็นฝ่ายเสริฟ และเราจะต้องเล่นเกมรุก)

การเล่นในกระบวนการเปลี่ยนเสริฟของทั้งไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันคือใช้โครงสร้างหลักในการรุก (แผนการเล่นที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน) เช่น การใช้พื้นที่การรุกตลอดหน้าตาข่าย การรุกจากแดนหลัง ตัวอย่างแผนการเล่นเหล่านี้คือ มีผู้เล่นคอยรุกที่หัวเสาด้านซ้าย ด้านขวา รุกด้วยบอลเร็วกลางตาข่าย และรุกด้วยแดนหลังจากตำแหน่งกลางหลัง เป็นต้น คือไม่ใช้การเล่นแบบผสม หรือภาษาวอลเลย์บอลเรียกบอลทับ  สาเหตุเพราะกระบวนการรุก แผนการรุกทั้งหลายขึ้นอยู่กับคุณภาพของการรับลูกเสริฟหากไม่เข้าจุดก็ไม่สามารถเล่นแผนที่ซับซ้อนได้ ซึ่งตรงนี้คือข้อได้เปรียบของสาวญี่ปุ่นที่อาจจะมีเกมรุกที่ดูรวดเร็วและหลากหลายกว่าไทยเล็กน้อย แต่สาวไทยก็ทดแทนด้วยน้ำหนักในการตบบอลที่สาวไทยตบบอลได้หนักแน่นกว่า

การรุกโต้กลับ (การรุกเมื่อสามารถรับการตบหรือหยอดหรือการแก้ไขข้ามมายังฝ่ายเราและเราจะทำการรุกกลับ)

การรุกโต้กลับในวันนี้ เราอาจจะได้เห็นแผนการเล่นแบบผสม (Combination Attack) หรือการวิ่งหลอกเพื่อตบบอลของผู้เล่นทั้ง 2 ทีมอย่างแน่นอน การรุกโต้กลับนี้จะต้องใช้ความเข้าใจกันระหว่างผู้เล่นตัวรุกและตัวเซตอย่างมาก เพราะการรุกลักษณะนี้จะฉับพลันตัวเซตจะไม่มีเวลาสั่งแผนการเล่น จึงต้องเป็นการวางแผนล่วงหน้าโดยมีตัวเซตและผู้ฝึกสอนคอยบัญชาเกม เรียกว่าสู้กันด้วยกลยุทธ์ล้วนๆ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้นความพร้อม การใช้กลยุทธ์ ทักษะ การควบคุมสภาพจิตใจของใครดีกว่ากัน เราๆ แฟนวอลเลย์บอลก็คงต้องส่งใจตามเชียร์ให้วอลเลย์บอลสาวไทยสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งให้ได้ อย่าลืมติดตามชมและเชียร์ทางช่อง 7 สี เวลา 15.00 น. ครับ

ไทยแลนด์สู้ สู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม