วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

วอลเลย์บอลสาวไทยกับบทพิสูจน์ “เป็นแชมป์ว่ายากแล้ว ป้องกันแชมป์ยิ่งยากกว่า”




เป็นแชมป์ว่ายากแล้ว ป้องกันแชมป์ยิ่งยากกว่า เป็นคำกล่าวที่ผมอยากเอามาใช้กับทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย กับภารกิจในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 16 ณ ประเทศไต้หวัน ในฐานะแชมป์เก่าที่จะต้องพยายามรักษาแชมป์ไว้ให้ได้อีกสมัย ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการเลยทีเดียว ทั้งนี้หากเราประเมินปัจจัย องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เราคว้าแชมป์ในปี 2009 และลองเปรียบเทียบกับปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะทำให้เราพอให้เห็นทิศทางบ้างไม่มากก็น้อย โดยผมเองลองประเมินปัจจัยหลักๆ 4 ส่วนที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องคือ สภาพของทีม สภาพของคู่แข่งขัน สภาพแวดล้อมการแข่งขัน และความคาดหวัง

ความพร้อมของทีม

ในส่วนของความพร้อมของทีมในด้านตัวผู้เล่น ทีมสาวไทยมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นจากชุดเดิมที่ได้แชมป์เพียง 2 คนคือ เอมอร พานุสิทธิ์ และนฤมล ขานอัน หลุดจากทีมไปและได้ วณิชยา หล่วงทองหลาง และปิยนุช แป้นน้อย เข้ามาแทน จากผลการแข่งขันในรายการวอลเลย์บอล World Grand Prix ทีมสาวไทยทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายและคว้าอันดับที่ 6 มาได้ส่งผลให้อันดับโลกของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยขยับอันดับมาอยู่ที่ 10 ของโลกเรียบร้อยแล้วและเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย

ด้านความพร้อมของสาวไทยขณะนี้เหลือเพียงความพร้อมด้านร่างกายหากนักกีฬาตัวหลักของทีมไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวนถือว่าความแข็งแกร่งของทีมในครั้งนี้จะดีกว่าคราวที่เราได้แชมป์เสียอีก โดยเฉพาะการใช้ระบบตัวรับอิสระ 2 ตัวที่มีจุดเด่นคนละแบบลงเล่นสลับกัน ช่วยชดเชยจุดอ่อนของทีมได้อย่างลงตัว ในส่วนของสภาพจิตใจนั้นสาวไทยขณะนี้มีความฮึกเหิมเป็นอย่างมากหลังจากสามารถเอาชนะทีมระดับโลกได้หลายทีมและย้ำแค้นสาวจีนได้อีกครั้งเชื่อว่าทำให้สาวไทยมีความมั่นใจมากขึ้น

สภาพคู่แข่งขัน

ในฐานะแชมป์เก่าไม่มีใครสามารถประมาททีมไทยได้อีกต่อไป ทำให้งานของสาวไทยยากมากขึ้น สำหรับคู่แข่งสำคัญของสาวไทยครั้งนี้จากการคาดการณ์มีเพียง 4 ทีมเท่านั้นที่มีศักยภาพเพียงพอกับการเป็นเจ้าเอเชียคือ ไทย จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทั้ง 4 ทีมนี้ถึงแม้จะเคยแพ้ชนะกันมาแต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าผลการแข่งขันจะซ้ำรอยเดิม ทีมสาวจีนแม้จะเริ่มสร้างทีมใหม่ผู้เล่นยังอ่อนประสบการณ์แต่ด้วยชื่อชั้นของจีนเองก็ไม่ใช่ทีมที่จะมองผ่านแม้ว่าล่าสุดจะแพ้ไทยอีกครั้ง เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ไม่ใช่งานง่ายเลย กล่าวได้ว่าทั้ง 4 ทีมหากใครสามารถแสดงศักยภาพสูงสุดได้ในช่วงการแข่งขันก็อาจจะเป็นผู้คว้าชัยชนะได้ ในความเห็นส่วนตัวของผมเองทีมที่เป็นอุปสรรคสำหรับสาวไทยมากที่สุดก็คือ ญี่ปุ่น ทีมีรูปแบบการเล่นที่รวดเร็วและเหนียวแน่นในเกมรับ

สภาพแวดล้อมการแข่งขัน

ในส่วนของสนามแข่งขันแม้ว่าจะแข่งนอกบ้านแต่ด้วยประสบการณ์ในระดับโลกที่โชกโชนของสาวไทยเชื่อว่าไม่มีผลต่อนักกีฬามากนัก ส่วนการแบ่งสายการแข่งขัน และระบบการแข่งขันครั้งนี้ทั้ง 4 ทีมที่กล่าวมาน่าจะผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายได้ทั้งหมด ส่วนใครจะมีโอกาสพบกับใครจะมาวิเคราะห์ในตอนต่อไปครับ

ความคาดหวัง

ในปี 2009 ก่อนการแข่งขันไม่มีใครคาดคิดว่าทีมวอลเลย์บอลสาวไทยจะสามารถเป็นแชมป์เอเชียได้ นั่นเป็นข้อดีคือทำให้นักกีฬาและทีมงานไม่มีความกดดัน แต่ในปี 2011 มีความแตกต่างอย่างมากเพราะสาวไทยไปในฐานะแชมป์เก่า ความคาดหวังทั้งจากทีมงาน กองเชียร์ หรือสื่อมวลชนเองย่อมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะสร้างความความกดดันมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าทางทีมงานเองคงหาวิธีลดความกดดันเหล่านี้ได้เพราะอาจจะส่งผลถึงฟอร์มการเล่นไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงการประเมินเปรียบเทียบจากผลงานของสาวไทยที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นความสำเร็จทั้งหลายขึ้นอยู่กับความพร้อมในขณะช่วงแข่งขันที่จะส่งผลให้ทีมประสบความสำเร็จหรือไม่ เราในฐานะผู้ชมก็เพียงมีหน้าที่ให้กำลังใจกันต่อไป เพื่อให้ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยทำสิ่งที่ “ยากกว่า” ให้สำเร็จคือการป้องกันแชมป์เอเชียเพื่อคงกระแสความนิยมของวอลเลย์บอลเอาไว้ และเป็นความภาคภูมิใจของวงการกีฬาไทยต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม